ประวัติความเป็นมา
ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา เดิมชื่อ กองเผยแพร่การศึกษา
พ.ศ. 2495
ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา เดิมชื่อ กองเผยแพร่การศึกษา ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2495 สังกัด กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่โฆษณาเผยแพร่ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการศึกษา แนะนำ การศึกษาและอาชีพ โดยมีคุณหญิงอัมพร มีศุข เป็นหัวหน้ากองเผยแพร่การศึกษาเป็นคนแรก
พ.ศ. 2497
รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการใช้วิทยุเพื่อการศึกษา จึงมีมติอนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “สถานีวิทยุศึกษา” ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ สังกัดกองเผยแพร่ เริ่มส่งการกระจายเสียงเป็นครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2497 ออกอากาศเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน ในสาขาต่างๆ และในปีเดียวกันนี้เอง รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการกรมวิชาการ พ.ศ. 2497 แก้ไขใหม่ให้โอนกองเผยแพร่การศึกษา ไปขึ้นกับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2500
หลังจากที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดรายการวิทยุ เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนแล้วต่อมาใน พ.ศ. 2500 กองเผยแพร่การศึกษา ได้เริ่มการทดลองใช้วิทยุ เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนซึ่งเรียกว่า “วิทยุโรงเรียน” เริ่มดำเนินการออกอากาศรายการใน พ.ศ. 2501 และในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2502 กองเผยแพร่การศึกษา ได้เริ่มจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาเป็นครั้งแรก โดยออกอากาศรายการส่งเสริมเผยแพร่ศิลปะการฟ้อนรำ และการดนตรีของไทยเรียกชื่อรายการว่า “นาฎดุริยางควิวัฒน์” ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในรายการบันเทิงภาคสุดท้าย เดือนละ 1 รายการ
พ.ศ. 2515
รัฐบาลได้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการใหม่ โดยรวมงานการกระจายเสียงทั้งวิทยุและโทรทัศน์ งานผลิตเอกสาร วารสารของกองเผยแพร่การศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง งานผลิตโสตทัศนูปกรณ์ของกรมวิชาการ และแผนกโสตทัศนศึกษา กรมสามัญศึกษา มารวมเข้าด้วยกันและตั้งเป็น “ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา” สังกัดกรมวิชาการตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2515
พ.ศ. 2522
รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 ตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียนขึ้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2522 และได้โอนศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาเข้าสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน
พ.ศ. 2522
รัฐบาลได้อนุมัติโครงการพัฒนาวิทยุกระจายเสียง ตามโครงการพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 5 ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ถึง 2527 ในส่วนหนึ่งของโครงการนี้ รัฐบาลได้อนุมัติให้สร้างอาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาขึ้นใหม่ พร้อมห้องบันทึกเสียง และห้องผลิตรายการวิทยุ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาจึงได้ย้ายที่ทำการจากเดิม ซึ่งอยู่ภายในบริเวณกระทรวงศึกษาธิการ มาอยู่ ณ อาคารแห่งใหม่ ถ.ศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ พ.ศ. 2526
พ.ศ. 2527
กระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุมัติให้ต่อเติมอาคารด้านทิศตะวันตกของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อเป็นศูนย์ผลิตรายการวิดีโอเทปเพื่อการศึกษา ได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์การผลิตรายการ เสร็จสมบูรณ์และเริ่มจัด และผลิตรายการวิดีโอเทปอย่างจริงจังตั้งแต่เดือนมกราคม 2529
พ.ศ. 2537
หลังจากที่งานผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 30 ปี กระทรวงศึกษาธิการโดยความร่วมมือของมูลนิธิไทยคม ได้จัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ หรือ ETV ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมอบหมายให้กรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาเป็นผู้ดำเนินงาน และได้รับอนุมัติให้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ จากกรมประชาสัมพันธ์ ในปี พ.ศ. 2542
พ.ศ. 2546
กรมการศึกษานอกโรงเรียน ได้ปรับเปลี่ยนองค์กรใหม่เป็นสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิ การ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราช การกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 โดยเริ่มกำหนดปรับเปลี่ยนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา จึงต้องสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทวงศึกษาธิการเป็นต้นมา
พ.ศ. 2551
สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาจึงสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2566
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนชื่อเป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ซึ่ง ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติการส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 โดยมีสาระสำคัญคือการยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 และยกฐานะ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็น "กรมส่งเสริมการเรียนรู้" โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นไป 60 วันหรือตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2566