ประวัติความเป็นมาของโทรทัศน์เพื่อการศึกษาไทย
กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2500 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 (ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ในปัจจุบัน) และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 หน่วยงานที่ได้ดำเนินการผลิตพัฒนาและเผยแพร่รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาอย่างต่อเนื่อง คือ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้จัดผลิตรายการส่งเสริมความรู้ด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม อาชีพ ฯลฯ สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป
พ.ศ.2527
กระทรวงศึกษาธิการ อนุมัติให้ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาจัดตั้งศูนย์ผลิตรายการวิดีโอเทปขึ้น เพื่อให้ผลิตรายการโทรทัศน์และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกโรงเรียน รวมทั้งให้บริการด้านการผลิตรายการ แก่หน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงศึกษาธิการด้วย
พ.ศ. 2529
ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นผู้ประสานงานจัดทำร่างแผนแม่บท โครงการพัฒนาโทรทัศน์ และวิดีโอเทปเพื่อการศึกษา (ศูนย์ผลิตรายการโทรทัศน์ และวิดีโอเทปที่รังสิต)
พ.ศ.2530
ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงศึกษาธิการ จัดและผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ แห่งประเทศไทยช่อง 11
พ.ศ.2537
คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการทดลองจัดการศึกษา ทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่อเป็นการขยายโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับมาตรฐานการศึกษา เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2537 โดยให้เป็นโครงการทดลองในระยะ 5 ปี (8 มิถุนายน พ.ศ. 2537 - 7 มิถุนายน 2542) และเริ่มทดลองออกอากาศตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2537 โดยใช้ ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ETV)" แพร่ภาพด้วยสัญญาณ ในระบบดิจิตอลในย่านความถี่ Ku-Band และได้มอบหมายให้ สำนักงาน กศน. รับผิดชอบสถานีนี้ และดำเนินงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน